อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แหล่งท่องเที่ยว สุดฮิต



อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นของคนไทยทุกคน โปรดช่วยกันรักษาไว้ให้ลูกหลานของเรา…

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แหล่งท่องเที่ยว สุดฮิต
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แหล่งท่องเที่ยว สุดฮิต

– ลื้งค์เพื่อดูคลิป เที่ยวเขาใหญ่!

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพทั่วๆ ไปของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นพื้นที่ด้านตะวันตกของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งสูงโดดเด่นขึ้นมาจากที่ราบภาคกลางแล้วก่อตัวเป็นแนวเขตของที่ราบสูงโคราช มีเขาร่มเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด 1,351 เมตร เขาแหลมสูง 1,326 เมตร เขาเขียวสูง 1,292 เมตร เขาสามยอดสูง 1,142 เมตร เขาฟ้าผ่าสูง 1,078 เมตร เขากำแพงสูง 875 เมตร เขาสมอปูนสูง 805 เมตร และเขาแก้วสูง 802 เมตร ซึ่งวัดความสูงจากระดับน้ำทะเลเป็นเกณฑ์

และยังประกอบด้วยทุ่งกว้างสลับกับป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ด้านทิศเหนือและตะวันออกพื้นที่จะลาดลง ทางทิศใต้และตะวันตกเป็นที่สูงชันไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญถึง 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก อยู่ในพื้นที่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเกษตรกรรมและระบบทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคนี้ แม่น้ำทั้ง 2 สายนี้ มาบรรจบกันที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กลายเป็นแม่น้ำบางปะกง แล้วไหลลงสู่อ่าวไทย แม่น้ำลำตะคองและแม่น้ำพระเพลิง อยู่ในพื้นที่ทางทิศเหนือ ไหลไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของที่ราบสูงโคราช ไปบรรจบกับแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคอีสานตอนล่างไหลลงสู่แม่น้ำโขง ห้วยมวกเหล็ก อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำไหลตลอดทั้งปีและให้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะการปศุสัตว์ของภูมิภาคนี้ ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก ที่อำเภอมวกเหล็ก

ลักษณะภูมิอากาศ
ด้วยสภาพป่าที่รกทึบและได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ทำให้เกิดฝนตกชุกตามฤดูกาล อากาศไม่ร้อนจัดและหนาวจัดจนเกินไป จัดอยู่ในประเภทเย็นสบายตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวและประกอบกิจกรรมนันทนาการชนิดต่างๆ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 23 องศาเซลเซียส

ฤดูร้อน แม้ว่าอากาศจะร้อนอบอ้าวกว่าในที่อื่น แต่ที่เขาสูงบนเขาใหญ่อากาศเย็นสบายเหมาะแก่การพักผ่อน เล่นน้ำในลำธารและนำอาหารไปรับประทาน ไม้ป่ามีดอกหลากสีบานสะพรั่งบ้างออกผลตามฤดูกาล

ฤดูฝน เป็นช่วงหนึ่งของปีที่สภาพบนเขาใหญ่ชุ่มฉ่ำ ป่าไม้ทุ่งหญ้าเขียวขจีสดสวย น้ำตกทุกแห่งไหลแรงส่งเสียงดังก้องป่าให้ชีวิตชีวาแก่ผู้ไปเยือน แม้การเดินทางจะลำบากกว่าปกติแต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ไม่ลดน้อยลงเลย

ฤดูหนาว ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤดูที่นิยมไปเขาใหญ่มากที่สุด ท้องฟ้าสีครามแจ่มใสตัดกับสีเขียวขจีของป่าไม้ พยับหมอกที่ลอยเอื่อยไปตามทิวเขา ดวงอาทิตย์กลมโตอยู่เบื้องหน้าไกลโพ้น อากาศหนาวเย็นในเวลากลางคืน แต่รุ่งเช้าของวันใหม่จะพบกับธรรมชาติที่สวยงามแตกต่างไปจากเมื่อวานอีกแบบหนึ่ง

พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แบ่งออกๆได้เป็น ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้า และป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ป่าเบญจพรรณแล้ง ลักษณะของป่าชนิดนี้อยู่ทางด้านทิศเหนือ ซึ่งมีระดับความสูงระหว่าง 200-600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วยไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ เช่น มะค่าโมง ประดู่ ตะแบก ตะเคียนหนู แดง นนทรี ซ้อ ปออีเก้ง สมอพิเภก ตะคล้ำ เป็นต้น พืชชั้นล่างมีไม้ไผ่และหญ้าต่างๆ รวมทั้งกล้วยไม้ด้วย ในฤดูแล้งป่าชนิดนี้จะมีไฟลุกลามเสมอ และตามพื้นป่าจะมีหินปูนผุดขึ้นอยู่ทั่วๆ ไป

ป่าดงดิบแล้ง ลักษณะป่าชนิดนี้มีอยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ราบลูกเนินในระดับความสูง 200-600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ไม้ชั้นบน ได้แก่ ยางนา พันจำ เคี่ยมคะนอง ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะแบก สมพง สองสลึง มะค่าโมง ปออีเก้ง สะตอ ซาก และคอแลน เป็นต้น ไม้ยืนต้นชั้นรองมี กะเบากลัก หลวงขี้อาย และกัดลิ้น เป็นต้น พืชจำพวกปาล์ม เช่น หมากลิง และลาน พืชชั้นล่างประกอบด้วยพืชจำพวกมะพร้าว นกคุ้ม พวกขิง ข่า กล้วยป่า และเตย เป็นต้น

ป่าดงดิบชื้น ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นป่าที่อยู่ในระดับความสูง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จะมีชนิดไม้คล้ายคลึงกับป่าดงดิบแล้ง เพียงแต่ว่าไม้วงศ์ยางขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ยางกล่อง ยางขน ยางเสี้ยน และกระบาก โดยเฉพาะพื้นที่ถูกรบกวนจะพบ ชมพูป่าและกระทุ่มน้ำขึ้นอยู่ทั่วไป พรรณไม้ผลัดใบ เช่น ปออีเก้ง สมพง และกว้าว แทบจะไม่พบเลย บริเวณริมลำธารมักจะมีไผ่ลำใหญ่ๆ คือ ไผ่ลำมะลอกขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม ป่าดิบชื้นบนที่สูงขึ้นไปจะมียางปายและยางควน นอกจากไม้ยางแล้วไม้ชั้นบนชนิดอื่นๆ ยังมี เคี่ยมคะนอง ปรก บรมือ จำปีป่า พะดง และทะโล้ ไม้ชั้นรอง ได้แก่ ก่อน้ำ ก่อรัก ก่อด่าง และก่อเดือย ขึ้นปะปนกัน

ป่าดิบเขา ป่าชนิดนี้เกิดอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นบนภูเขาสูง ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตรขึ้นไป สภาพป่าแตกต่างไปจากป่าดงดิบชื้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีไม้วงศ์ยางขึ้นอยู่เลย พรรณไม้ที่พบเป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น พญาไม้ มะขามป้อมดง ขุนไม้ และสนสามพันปี และไม้ก่อชนิดต่างๆ ที่พบขึ้นในป่าดงดิบชื้น นอกจากก่อน้ำและก่อต่างๆ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 600-900 เมตรเท่านั้น ตามเขาสูงจะพบต้นกำลังเสือโคร่งขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม้ชั้นรอง ได้แก่ เก็ดล้าน ส้มแปะ แกนมอ เพลาจังหัน และหว้า พืชชั้นล่าง ได้แก่ ต้างผา กำลังกาสาตัวผู้ กูด และกล้วยไม้ดิน

ทุ่งหญ้าและป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นผลเสียเนื่องจากการทำไร่เลื่อนลอยในอดีต ก่อนมีการจัดตั้งป่าเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติได้มีราษฎรอาศัยอยู่และได้แผ้วถางป่าทำไร่ เมื่อมีการอพยพราษฎรลงไปสู่ที่ราบ บริเวณไร่ดังกล่าวถูกปล่อยทิ้ง ต่อมามีสภาพเป็นทุ่งหญ้าคาเสียส่วนใหญ่ บางแห่งมีหญ้าแขม หญ้าพง หญ้าขนตาช้างเลา และตองกง และยังมีกูดชนิดต่างๆ ขึ้นปะปนอยู่ด้วย เช่น โขนใหญ่ กูดปี้ด โขนผี กูดงอดแงด และกูดตีนกวาง

เนื่องจากในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีการป้องกันไฟป่าเป็นอย่างดี พื้นที่ป่าหญ้าหรือป่าเหล่านี้จึงไม่ถูกรบกวนจากไฟป่าเลย ดังนั้น จึงมีพันธุ์ไม้เบิกนำจำนวนไม่น้อย แพร่พันธุ์กระจัดกระจายทั่วไป เช่น สอยดาว บรมือ ลำพูป่า เลี่ยน ปอหู ตลงแตบ ฯลฯ ปัจจุบันพื้นที่ป่าทุ่งหญ้าบางแห่งได้กลับฟื้นคืนสภาพเป็นป่าละเมาะบ้างแล้ว

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าชุกชุมมาก ในบางโอกาสขณะขับรถยนต์ไปตามถนน จะสามารถเห็นสัตว์ป่าเดินผ่านหรือออกหากินตามทุ่งหญ้า หรืออาจจะเห็นโขลงช้างออกหากินริมถนน ลูกช้างเล็กๆ ซนและน่ารักมาก บริเวณตั้งแต่ที่ชมวิวกิโลเมตรที่ 30 จนถึงปากทางเข้าหนองผักชี ตลอดจนโป่งต้นไทร ในปัจจุบันถ้าขับรถยนต์ขึ้นเขาใหญ่ทางด่านตรวจเนินหอมข้ามสะพานคลองสามสิบไปแล้ว สามารถเห็นโขลงช้างได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในตอนกลางคืนจากการศึกษาตามโครงการการอนุรักษ์ช้างป่า และการจัดการพื้นที่ป้องกัน (ELEPHANT CONSERVATION AND PROTECTED AREA MANAGMENT) โดย MR. ROBERT J. DOBIAS ภายใต้ความร่วมมือของ WWF และ IUCN ในปี พ.ศ.2527-2528 พบว่า มีจำนวนประมาณ 250 เชือก

สัตว์ป่าที่สามารถพบได้บ่อยๆ และตามโอกาสอำนวย ได้แก่ เก้ง กวาง ตามทุ่งหญ้าทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังพบ เสือโคร่ง กระทิง เลียงผา หมี เม่น ชะนี พญากระรอก หมาไม้ ชะมด อีเห็น กระต่ายป่า นกชนิดต่างๆ จำนวน 250 ชนิด จากจำนวนไม่น้อยกว่า 340 ชนิด ที่สำรวจพบอาศัยอยู่บริเวณป่าเขาใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งหาอาหารและที่อาศัยอย่างถาวร นกที่น่าสนใจและพบเห็นได้บ่อย ได้แก่ นกเงือก นกขุนทอง นกขุนแผน นกพญาไฟ นกแต้วแล้ว นกโพระดก นกแซงแซว นกเขา นกกระปูด ไก่ฟ้า และนกกินแมลงชนิดต่างๆ นกเงือกทั้ง 4 ชนิด ซึ่งได้แก่ นกกก นกเงือกกรามช้าง นกแก๊ก และนกเงือกสีน้ำตาล ที่พบบนเขาใหญ่นับว่าเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักดูนกเป็นอย่างดี เพราะพบเห็นได้ทั่วไป พวกแมลงที่มีมากกว่า 5,000 ชนิด ที่สวยงามและพบเห็นบ่อยได้แก่ ผีเสื้อ มีรายงานพบกว่า 216 ชนิด

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ตู้ ปณ.9 อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา 30130
โทรศัพท์ 08 6092 6529, 08 60926531,0 3735 6033, 0 4424 9305 โทรสาร 0 3735 6037 อีเมล khaoyai_np@hotmail.com
ที่มา http://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style1/default.asp?npid=9

หากต้องการ ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ดูได้ที่เว็บไซต์ http://www.dnp.go.th/

3 thoughts on “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แหล่งท่องเที่ยว สุดฮิต”

  1. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

    มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 2,168 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ของ 4 จังหวัด คือ นครนายก นครราชสีมาปราจีนบุรี และสระบุรี

    มีภูมิประเทศสวยงาม ประกอบด้วยป่าดิบ ป่าโปร่ง ธารน้ำ น้ำตก สัตว์ป่าและพันธุ์ไม้ป่านานาชนิด ยอดเขาที่สูงที่สุดในเทือกเขาใหญ่ คือ ยอดเขาแหลม มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,292 เมตร

    ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2505 นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย และถูกประกาศเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548

    การเดินทางไปเขาใหญ่นับว่าสะดวกมาก มีถนนลาดยางอย่างดี แยกจากทางหลวงหมายเลข 33 ที่สี่แยกเนินหอม ระยะทาง 41 กิโลเมตร ไปยังศูนย์กลางของเขาใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ และไปบรรจบกับถนนมิตรภาพ บริเวณอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา รวมระยะทาง จากสี่แยกเนินหอมถึงถนนมิตรภาพประมาณ 81 กิโลเมตร

    สถานที่ท่องเที่ยวบนเขาใหญ่เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ต่าง ๆ ได้แก่ จุดชมวิว กม.ที่ 30 ถนนธนะรัชต์ ( จากปากช่อง ) จุดชมวิวเขาเขียว ( ผาตรอมใจ ) และจุดชมวิว กม.ที่ 9 บนทางขึ้นเขาเขียว

  2. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

    เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 2,168 ตารางกิโลเมตรในเทือกเขาพนมดงรัก ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา นครนายก สระบุรี และปราจีนบุรี ป่าเขาใหญ่สมัยก่อนได้รับสมญานามว่า ดงพญาไฟ ที่ทั้งโหดทั้งดิบสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางผ่านป่าผืนใหญ่ที่กั้นแบ่งเขตภาคกลางและภาคอีสาน

    จนกระทั่งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2465 ได้มีชาวบ้านประมาณ 30 ครัวเรือนไปตั้งหลักแหล่ง ถางป่าทำนาทำไร่ สันนิษฐานว่าเป็นพวกที่หลบหนีคดีมา ต่อมาพื้นที่เขาใหญ่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2505 และได้รับสมญาว่าเป็นอุทยานมรดกของอาเซียน อีกทั้งได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ในปี 2548

    สภาพทั่วไปของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น บางส่วนของพื้นที่เป็นทุ่งกว้างสลับกับป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ที่มีคุณค่ามากมายทั้งไม้เศรษฐกิจ ไม้หอม และสมุนไพรต่าง ๆ ภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนประกอบด้วย เขาร่ม ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด 1,351 เมตร

    สำหรับยอดเขาอื่นๆ เช่น เขาสามยอดสูง 1,142 เมตร เขาฟ้าผ่าสูง 1,078 เมตร และยอดเขาอื่น ๆ ที่สำคัญมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800-1,000 เมตร ได้แก่ เขาแหลม เขาเขียว เขากำแพง เขาสมอปูนและเขาแก้ว ด้านทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นที่สูงชัน ส่วนทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกพื้นที่ลาดลง จากระดับความสูงของพื้นที่และความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าดิบ

    ทำให้เขาใหญ่มีอากาศเย็นสบายแม้ในฤดูร้อน โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 23 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวราวเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเขาใหญ่มากที่สุด ส่วนในช่วงฤดูฝน สภาพธรรมชาติบนเขาใหญ่ชุ่มช่ำ ป่าไม้และทุ่งหญ้าเขียวขจีสดใส น้ำตกทุกแห่งไหลแรงเสียงดังก้องป่าให้ชีวิตชีวาแก่ผู้ไปเยือนแม้การเดินทางจะค่อนข้างลำบาก แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย

    ป่าเขาใหญ่มีไม้มีค่าและพืชสมุนไพรนานาชนิดที่สมควรได้รับการดูแลอนุรักษ์ไว้ พันธุ์ไม้ที่น่าสนใจ เช่น ไทร ซึ่งได้รับสมญานามว่า “นักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงไพร” ผลของไทรเป็นอาหารให้สัตว์ป่าหลายชนิดรวมทั้งนกเงือก แต่ในขณะเดียวกันไทรก็เป็นต้นไม้ที่ต้องอิงอาศัยต้นไม้อื่นในการเจริญเติบโต จึงไปแย่งน้ำและอาหารทำให้ต้นไม้นั้นค่อย ๆ ตายไปในที่สุด

    เตยน้ำ เป็นไม้เลื้อยที่มีกลิ่นคล้ายตะไคร้ภายในมีท่อลำเลียงน้ำขนาดใหญ่สามารถนำมาดื่มได้ สุรามริด ใช้ดองเหล้าแก้ปวดหลังปวดเอว กะเพราต้น เป็นไม้ใหญ่ยืนต้น แก้เจ็บท้องขับลม เงาะป่า ผลมีขนแข็งสีเหลืองแต่รับประทานไม่ได้ และ กฤษณา ไม้ซึ่งสามารถสกัดเปลือกไปทำเครื่องหอมได้ เป็นต้น

    สัตว์ป่าที่สามารถพบเห็นบ่อยได้แก่ เก้ง กวาง ตามทุ่งหญ้า นอกจากนี้ยังอาจพบช้างป่า หมีควาย หมูป่า ชะนี เม่น พญากระรอก หมาใน ชะมด อีเห็น กระต่ายป่า รวมทั้งเสือโคร่ง กระทิงและเลียงผาซึ่งก็มีถิ่นอาศัยอยู่ที่เขาใหญ่เช่นกัน

    อุทยานฯได้สร้างหอสูงสำหรับส่องดูสัตว์อยู่สองจุด คือ บริเวณมอสิงโตและหนองผักชี อนุญาตให้ขึ้นไประหว่างเวลา 8.00-18.00 น. บริเวณที่ตั้งหอดูสัตว์เป็นทุ่งหญ้าซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯจะเผาทุกปีเพื่อให้เกิดหญ้าอ่อน หรือหญ้าระบัดขึ้นสำหรับเป็นอาหารสัตว์ และยังมีโป่งดินเค็มที่เป็นแหล่งเกลือแร่ของสัตว์ต่าง ๆ อยู่ด้วย นักท่องเที่ยวที่ต้องการนั่งรถส่องสัตว์ในเวลากลางคืนสามารถติดต่อที่ทำการอุทยานฯ ก่อนเวลา 18.00 น.

    เขาใหญ่ยังเหมาะเป็นที่ดูนกและผีเสื้อ จากการสำรวจ พบนกจำนวนไม่น้อยกว่า 293 ชนิด และมีอยู่ 200 ชนิด ที่พบว่าอาศัยป่าเขาใหญ่เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยอย่างถาวร
    นกที่น่าสนใจได้แก่ นกเงือกซึ่งถือเป็นตัวบ่งชี้ว่าป่านั้นยังคงความอุดมสมบูรณ์ ที่พบบนเขาใหญ่มีอยู่ 4 ชนิด นอกจากนั้นยังมีนกที่พบเห็นได้บ่อย ได้แก่ นกขุนทอง นกขุนแผน นกพญาไฟ นกแต้วแล้ว นกโพระดก นกแซงแซว นกเขา นกกระปูด ไก่ฟ้า และนกกินแมลงชนิดต่างๆ

    ส่วนแมลงที่สวยงามและพบเห็นมากคือ ผีเสื้อซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000 ชนิด

    การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ มีเส้นทางให้เลือกกว่า 20 เส้นทาง ที่ต่างกันทั้งความงามของธรรมชาติ และระยะทาง ระยะเวลาที่ใช้ในการเดินป่า ซึ่งมีตั้งแต่ 1-2 ชั่วโมง เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติกองแก้ว เส้นทาง กิโลเมตรที่ 33 (ถนนธนะรัชต์-หนองผักชี) หรือที่ต้องเข้าไปพักค้างแรมในป่า เช่น เส้นทางน้ำตกนางรอง-เขาใหญ่ เส้นทางเขาสมอปูน หรือเส้นทางหน่วยฯ ขญ.4-น้ำตกวังเหว เป็นต้น

    โดยสามารถติดต่อขอรายละเอียดและเจ้าหน้าที่นำทางได้ที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (หมายเหตุ เขาสมอปูน ปิดระหว่างวันที่ 1กค.- 30 กย.ของทุกปี)

    สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยาน

    ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 24 ถนนธนะรัชต์ เส้นทางขึ้นเขาใหญ่ด้านอำเภอปากช่อง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2505 นักท่องเที่ยวที่ผ่านเข้าอุทยานแห่งชาติ และประชาชนทั่วไปมักแวะไปกราบไหว้ขอโชคลาภและขอพรอยู่เสมอ

    น้ำตกกองแก้ว เป็นน้ำตกเตี้ยๆ ที่เกิดจากห้วยลำตะคองซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตจังหวัดนครนายก และนครราชสีมา ในฤดูฝนดูสวยงามมาก เหมาะแก่การเล่นน้ำ สามารถเข้าถึงได้โดยการเดินเท้าจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประมาณ 100 เมตร มีสะพานเชือกทอดข้ามลำน้ำให้บรรยากาศการพักผ่อนที่กลมกลืนและบริเวณใกล้ๆ ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติเส้นสั้นๆ

    น้ำตกผากล้วยไม้ เป็นน้ำตกขนาดกลางในห้วยลำตะคองเช่นเดียวกัน ห่างจากที่ทำการฯประมาณ 7 กิโลเมตร สามารถเข้าถึงโดยทางรถยนต์และทางเดินเท้า บริเวณน้ำตกมีกล้วยไม้หวายแดงขึ้นอยู่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของน้ำตกแห่งนี้และเป็นน้ำตกที่สายน้ำสองสายไหลผ่านชั้นหินทีละชั้นมาบรรจบกันจากน้ำตกผากล้วยไม้มีทางเดินไปน้ำตกเหวสุวัตได้

    น้ำตกเหวสุวัต เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงมากเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ตั้งอยู่สุดถนนธนะรัชต์ รถเข้าถึง จากลานจอดรถเดินลงไปเพียง 100 เมตร หรือจะเดินเท้าต่อจากน้ำตกผากล้วยไม้ไปประมาณ 3 กิโลเมตร จะได้ เห็นสายน้ำตกลงมาจากหน้าผาสูงราว 20 เมตร มีจุดชมน้ำตกในระยะไกลที่สามารถมองผ่านแมกไม้เห็นภาพของน้ำตกทั้งหมดในมุมสูงได้สวยงาม หรือหากต้องการสัมผัสกับสายน้ำตกและแอ่งน้ำด้านล่าง ก็มีทางเดินลัดเลาะลงไปได้ แต่ในช่วงฤดูฝนน้ำจะมาก ไหลแรง และเย็นจัดควรระมัดระวังอันตราย

    น้ำตกเหวไทร-เหวประทุน จากน้ำตกเหวสุวัตมีป้ายบอกทางเดินต่อไปยังน้ำตกสองแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก เป็นสายน้ำที่เชื่อมต่อกับน้ำตกเหวสุวัต ทางลงสู่น้ำตกชันมากและลื่นโดยเฉพาะหลังฝนตก บรรยากาศโดยรอบร่มรื่นมาก หากเดินไปอย่างเงียบ ๆ ระหว่างทาง อาจได้พบกับสัตว์เล็ก ๆ เช่น นก กระรอก

    น้ำตกเหวนรก เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสูงที่สุดของอุทยานฯ อยู่ห่างจากที่ทำการฯลงมาทางทิศใต้ทางที่จะลงไปปราจีนบุรี โดยต้องเดินเท้าแยกจากทางสายหลักไปประมาณ 1 กิโลเมตร ถึงจุดชมวิวที่มีมุมมองเห็นน้ำตกได้สวยงาม น้ำตกมีทั้งหมด 3 ชั้น ชั้นแรกสูงประมาณ 60 เมตร เมื่อน้ำไหลผ่านหน้าผาชั้นนี้จะพุ่งลงสู่หน้าผาชั้นที่ 2 และ 3 ที่อยู่ถัดลงไปใกล้ ๆ กันในลักษณะชันดิ่ง 90 องศา รวมความสูงไม่ต่ำกว่า 150 เมตร

    ในฤดูฝนสายน้ำที่ไหลทะลักไปสู่หุบเหวเบื้องล่างจะแรงมากจนน่ากลัวและเมื่อกระทบหินเบื้องล่างจะแตกกระเซ็นสร้างความชุ่มชื้นไปทั่วบริเวณ บริเวณน้ำตกเหวนรกเป็นเขตหากินของช้างป่า ซึ่งช้างมักจะไม่เปลี่ยนเส้นทางหากิน จึงมักเกิดเหตุโศกนาฎกรรมช้างพลัดตกเหวอยู่เนือง ๆ

    น้ำตกไม้ปล้อง เป็นน้ำตกที่พบมานานแต่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ มีทั้งหมด 5 ชั้น ลดหลั่นกันลงมา ชั้นสูงสุดไม่เกิน 12 เมตร มีลักษณะคล้ายคลึงกับน้ำตกเหวนรก หรือน้ำตกเหวสุวัต ตลอดเส้นทางเดินเท้าเรียงรายด้วยโขดหินเล็กใหญ่และลำธารที่สวยงาม การเดินทางไปน้ำตกนี้เริ่มต้นที่วังตะไคร้ จังหวัดนครนายกโดยต้องเดินเท้าระยะทางประมาณ 24 กิโลเมตร ติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางได้ที่หน่วยพิทักษ์ฯ ขญ.9 (นางรอง)

    ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก บริเวณผากล้วยไม้จัดเป็นสถานที่ตั้งเต็นท์พักแรม ซึ่งรับนักท่องเที่ยวได้กว่า 1,000 คน มีร้านค้าสวัสดิการขายอาหาร และมีเต็นท์และเครื่องนอนให้เช่า นอกจากนั้นยังมีค่ายพักบริการอีก 2 แห่งคือ ค่ายพักกองแก้ว และค่ายพักเยาวชน ซึ่งรับนักท่องเที่ยวได้ รวม 250 คน ติดต่อขออนุญาตที่ที่ทำการฯก่อนเวลา 18.00 น. สำหรับการจองห้องพัก ติดต่อโดยตรงที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 หรือจองบ้านพักผ่านเว็บไซต์ http://www.dnp.go.th

    ค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
    คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท
    เด็ก 20 บาท

    ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 400 บาท
    เด็ก 200 บาท

    รถยนต์ 50 บาท
    รถบัส 200 บาท
    รถจักรยานยนต์ 20 บาท

    ทั้งนี้อุทยานแห่งชาติมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวสำหรับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ วันละ 2,000 คน กรุณาตรวจสอบก่อนการเดินทางที่ โทร. 037 365 033, 08 6092 6529 ตลอด 24 ชัวโมง และเพื่อคววมปลอดภัยในชีวิตและไม่เป็นการรบกวนการดำรงชีวิตสัตว์ป่า ห้ามนำสัตว์เลี้ยงขึ้นไปบนอุทยานฯ และ ห้ามรถยนต์ชนาดมากกว่า 40 ที่นั่ง รถสองชั้นหรือมีความสูง 3.50 เมตร ขึ้นลงเส้นทางระหว่างด่านศาลเจ้าพ่อ อำเภอปากช่อง ถึงที่ทำการอุทยานฯ สำหรับการขึ้นลงเส้นทางระหว่างด่านเนินหอม อำเภอเมือง ปราจีนบุรี ถึงที่ทำการอุทยานฯ ห้ามขึ้น-ลงระหว่างเวลา 16.00-06.00 น.

    การเดินทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 205 กิโลเมตร สามารถไปได้ 2 เส้นทางคือ แยกจากถนนมิตรภาพตรง กิโลเมตรที่ 56 ไปตามถนนธนะรัชต์ประมาณ 23 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งคือ จากกรุงเทพฯ-แยกหินกอง แล้วไปตามทางหลวงหมายเลข 33 (นครนายก-ปราจีนบุรี) ถึงสี่แยกเนินหอมใช้ทางหลวง 3077 ไปถึงเขาใหญ่ เส้นทางที่สองค่อนข้างชันเหมาะที่จะใช้เป็นทางลงมากกว่า

    หากโดยสารรถประจำทางจากกรุงเทพฯ ให้ลงที่อำเภอปากช่องแล้วต่อรถสองแถวขึ้นเขาใหญ่ บริเวณหน้าตลาดปากช่องรถจะไปถึงตรงแค่ด่านเก็บเงิน ค่ารถ 25 บาท มีบริการระหว่างเวลา 6.00-17.00 น. จากนั้นต้องโบกรถขึ้นไปยังที่ทำการฯ หรือจะเช่ารถจากปากช่องเลยก็ได้
    ทั้งนี้ด่านเก็บเงินจะปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นเวลา 21.00 น แต่สามารถลงเขาได้ทุกเวลา

    หมายเหตุ
    1. ปิดแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และจุดชมวิวผาเดี่ยวดาย ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน 2552

    2. ปัจจุบันอุทยานฯ มีประกาศ การจำกัดขนาดยานพาหนะและเวลาในการเข้าไปในอุทยานฯ เช่น ห้ามรถยนต์ขนาดมากกว่า 40 ที่นั่งทุกชนิด ขึ้นและลงเส้นทางระหว่างด่านศาลเจ้าพ่อปากช่อง ถึงที่ทำการอุทยานฯ และระหว่างด่านเนินหอม ถึงที่ทำการอุทยานฯ ระหว่างเวลา 16.00 น.-06.00 น. และห้ามรถยนต์ขนาดมากกว่า 40 ทีนั่ง ที่เป็นสองชั้นหรือมีความสูงมากกว่า 3.50 เมตร และกรณีรถปรับอากาศต้องมีจำนวนแรงม้าไม่น้อยกว่า 280 แรงม้า และกรณีรถไม่ปรับอากาศ มีจำนวนแรงม้าไม่น้อยกว่า 250 แรงม้า

    3. ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกประกาศกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ดังนั้น ก่อนการเข้าไปท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวควรตรวจสอบข้อมูลก่อนเดินทางที่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โทร. 08 1877 3127 และ 08 6092 6531 ตลอด 24 ชั่วโมง

    แหล่งข้อมูล: thai.tourismthailand.org

  3. แหล่งท่องเที่ยวที่นาสนใจ
    อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นผืนป่ากว้าง จึงมีกิจกรรมท่องเที่ยวให้เลือกหลากหลาย

    เที่ยวน้ำตก
    น้ำตกเหวนรก เป็นน้ำตกใหญ่และสูงที่สุดในอุทยานฯ น้ำตกผากล้วยไม้ น้ำตกเหวสุวัต น้ำตกกองแก้ว น้ำตกเหวประทุน นำตกเหวอีอ่ำ น้ำตกไม้ปล้อง น้ำตกวังเหว น้ำตกเหวจั๊กจั่น น้ำตกนางรอง น้ำตกธารทิพย์ น้ำตกแก่งกฤษณา น้ำตกตะคร้อ น้ำตกสลัดได น้ำตกส้มป่อย น้ำตกผาไทรคู่ น้ำตกผากระชาย น้ำตกผาด่านช้าง น้ำตกผามะนาวยักษ์ น้ำตกตาดตาภู่ น้ำตกตาดตาคง น้ำตกผากระจาย น้ำตกผาหินขวาง น้ำตกผารากไทร น้ำตกผาชมพู และน้ำตกผาตะแบก

    ดูสัตว์ป่า ทางอุทยานฯ ได้สร้างหอดูสัตว์เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สังเกตและศึกษาพฤติกรรมสัตว์ป่า มีอยู่ 3 แห่งด้วยกัน คือ หอดูสัตว์หนองผักชี อยู่กิโลเมตรที่ 35-36 ถนนธนะรัชต์ บริเวณหนองผักชี ซึ่งเป็นแห่งน้ำของสัตว์ป่า หอดูสัตว์มอสิงโต อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเขาใหญ่ประมาณ 500 เมตร บริเวณอ่างเก็บน้ำมอสิงโต รอบ ๆ มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าโล่ง หอดูสัตว์เขากำแพง อยู่ห่างจากหน่วยฯ คลองปลากั้งประมาณ 2 กิโลเมตร ในทุ่งหญ้าติดชายป่าเชิงเขากำแพง ยามเย็นจะมีฝูงกระทิงออกหากิน เห็นได้ชัดเจน

    นอกจากนี้ ยังมีการส่องสัตว์ คือการขับรถแล้วใช้ไฟส่องสัตว์ในเวลากลางคืนไปตามถนน สามารถติดต่อขออนุญาตได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หรือที่ทำการอุทยานฯ ก่อนเวลา 18.00 น. ทุกวัน

    ดูนก เขาใหญ่เป็นแหล่งดูนกที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะพบนกมากกว่า 340 ชนิด ทั้งนกอพยพและนกประจำถิ่น เส้นทางดูนกจะอยู่บริเวณศูนย์บริการท่องเที่ยว-ค่ายพักกองแก้ว ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว-มอสิงโต สองข้างทางถนน บริเวณสนามกอล์ฟ (เดิม) ผากล้วยไม้-เหวสุวัต-ด่านช้าง-บึงไผ่ และเขาเขียว

    เดินป่าศึกษาธรรมชาติ เส้นทางศูนย์บริการนักท่องเที่ยวน้ำตกกองแก้ว ระยะทางประมาณ 1,200 เมตร เส้นทางนี้จะปูด้วยอิฐตัวหนอน มีป้ายสื่อความหมายตลอดเส้นทาง นักท่องเที่ยวสามารถเดินเองได้

    เส้นทางเดินป่าประเภทไม่พักแรม การเดินป่าศึกษาธรรมชาติในเส้นทางเดินป่าประเภทนี้ ผู้ที่สนใจต้องติดต่อขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อน ได้แก่ เส้นทางดงติ้ว-มอสิงโต ระยะทาง 2 กิโลเมตร ผ่านป่าดงดิบเลียบริมห้วย มีต้นสมพงขนาดยักษ์มีพูพอนสูงท่วมหัวคน เส้นทางสายดงติ้ว-หนองผักชี ระยะทาง 4 กิโลเมตร ผ่านป่าดงดิบที่มีความหลากหลายของพืชพรรณ จนไปถึงหอดูสัตว์หนองผักชี เส้นทางผากล้วยไม้-เหวสุวัต ระยะทาง 3 กิโลเมตร ทางเลียบริมห้วย เส้นทาง กม. 33-หนองผักชี ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ผ่านป่าดงดิบ ยังมีเส้นทางเดินป่าที่น่าสนใจคือ เส้นทางวังจำปี-หนองผักชีและเส้นทางกองแก้ว-เหวสุวัต

    เส้นทางเดินป่าประเภทท่องไพร เส้นทางเดินป่าระยะไกล ต้องมีการพักแรมในป่า โดยมากเป็นเส้นทางที่อยู่รอบอุทยานฯ ติดต่อเดินป่าได้ ณ ที่ทำการอุทยานฯ และหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ใกล้เคียง เส้นทางเขาสมอปูน ใช้เวลาเดินทาง 4 วัน 3 คืน เส้นทางคลองปลากั้ง ใช้เวลา 4 วัน 3 คืน เส้นทางสะท้อน-แก่งยาว เดินทางแบบเช้าไป-เย็นกลับ หรือพักแรม 1 คืนก็ได้ เส้นทางโป่งตาลอง ใช้เวลา 2 วัน 1 คืน เส้นทางกลุ่มน้ำตกในตำบลบุฝ้าย ใช้เวลา 3 วัน 2 คืน

    ล่องแก่งหินเพิง แก่งหินขนาดใหญ่กลางแม่น้ำใสใหญ่ในเขตอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ในยามน้ำหลากราวเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ผู้ชื่นชอบความตื่นเต้นเร้าใจนิยมล่องเรือยางจากแก่งหินเพิงลงมายังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ขญ. 9 อีกด้วย

Leave a Reply