เที่ยวดอยตุง สีสันธรรมชาติอันควรอนุรักษ์



ดอยตุงคือความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ! ดอยตุงอยู่ในจังหวัดเชียงราย เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขานางนอน อยู่ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 1,630 เมตร สภาพอากาศเย็นสบาย

ดอยตุง ความภูมิใจไทยทั้งชาติ
ดอยตุง ความภูมิใจไทยทั้งชาติ ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต


●●● ดูคลิปท่องเที่ยวดอยตุง และแนะนำ 10 สุดยอด แหล่งท่องเที่ยวไทย ในดวงใจคลิ๊ก!

ดอยตุง เป็นดินแดนแห่งการอนุรักษ์ผืนป่า และอนุรักษ์วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย มีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามอยู่หลายแห่งด้วยกัน เช่น สถูปดอยช้างมูบ อยู่ห่างจากองค์พระธาตุดอยตุงประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นจุดชมวิวทางธรรมชาติที่สวยงามแห่งหนึ่ง ในบรรดาจุดชมวิวอื่นๆ เช่น จุดชมวิวดอยผาฮี จุดชมวิวดอยผาหมี และจุดชมวิวกิโลเมตรที่ 12

ดอยตุง เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอันดับแรกของเมืองเชียงราย มีชื่อเสียงมากด้านความสวยงามของดอกไม้เมืองหนาว โดยเฉพาะ สวนแม่ฟ้าหลวง บนดอยตุงนั้น นับได้ว่าเป็นสวนดอกไม้ที่สวยที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นที่ตั้งของ พระธาตุดอยตุง ซึ่งเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเชียงราย ทั้งยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีกุนอีกด้วย

แหล่งท่องเที่ยวบนดอยตุงที่นักท่องเที่ยวขึ้นไปเยี่ยมชมได้แก่ สวนแม่ฟ้าหลวง พระตำหนักดอยตุง พระธาตุดอยตุง สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวงดอยช้างมูบ

การเดินทาง : จากถนนพหลโยธินจากตัวเมืองเชียงรายผ่านอำเภอแม่จัน ก่อนถึงอำเภอแม่สายระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 870-871 จะมีแยกซ้ายมือเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1149 ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตรถึงดอยตุง

ที่มา ดอยตุง.net/

3 thoughts on “เที่ยวดอยตุง สีสันธรรมชาติอันควรอนุรักษ์”

  1. พระธาตุดอยตุง
    ตั้งอยู่บริเวณ กม. ที่ 17.5 ของทางหลวงหมายเลข 1149 เป็นที่บรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า นำมาจากมัธยมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ได้มาประดิษฐานที่ล้านนาไทย เมื่อก่อสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ ได้ทำธงตะขาบ (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ตุง) ใหญ่ยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอย

    ถ้าหากปลายธงปลิวไปไกลถึงเมืองไหน ก็จะกำหนดเป็นฐานพระสถูป เหตุนี้ดอยซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปฐมเจดีย์แห่งล้านนาไทย จึงปรากฏนามว่า ดอยตุง พระธาตุดอยตุงเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ

    เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงในวันเพ็ญเดือน 3 จะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและเพื่อนบ้านจากประเทศใกล้เคียง เช่น ชาวเชียงตุงในรัฐฉาน ประเทศสหภาพพม่า ชาวหลวงพระบาง เวียงจันทน์ เดินทางเข้ามานมัสการทุกปี พระธาตุดอยตุงถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีกุน ที่นิยมมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล

    ข้อมูลจาก: thai.tourismthailand.org

  2. โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ: โครงการต้นแบบการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน

    ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2531 บนพื้นที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 93,515 ไร่ ให้ประโยชน์แก่ชาวบ้าน 29 หมู่บ้าน ประมาณ 11,000 คน

    ประกอบด้วยชนเผ่า 6 เผ่า ในอดีต ชาวบ้านบนดอยตุงไม่มีสัญชาติ อยู่ในโลกแห่งการเอาตัวรอดและความยากจนแร้นแค้น โดยที่ไม่มีโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและการสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐ ทั้งยังมีกลุ่มติดอาวุธครอบครองพื้นที่บางส่วนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

    ดอยตุงซึ่งตั้งอยู่ใจกลางสามเหลี่ยมทองคำจึงเป็นแหล่งปลูกพืชเสพติด เผชิญปัญหาสังคมที่ซับซ้อน และมีธรรมชาติที่ถูกทำลายจากการแผ้วถางเพื่อทำไร่เลื่อนลอย

    อ่านต่อ…
    http://www.maefahluang.org/index.php?option=com_flexicontent&view=items&cid=68%3Adoi-tung-development-project-model-project&id=105%3Adoi-tung-development-project-the-model-project-&Itemid=92&lang=th

    ———————————————————

    พระตำหนักดอยตุง
    อยู่บริเวณ กม. ที่ 12 ทางหลวงหมายเลข 1149 เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานเพื่อทรงงานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระ-ตำหนักเป็นอาคารสองชั้น มีรูปทรงผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนากับชาเลย์ของสวิส มีการแกะสลักไม้ตามกาแล เชิงชายและขอบหน้าต่างเป็นลวดลายต่าง ๆ ฝีมือช่างชาวเหนือ

    การเดินทาง
    พระตำหนักดอยตุงอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงราย 60 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 110 ไป 45 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1149 ไปประมาณ 15 กิโลเมตร สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถประจำทางสามารถใช้บริการรถสองแถวสีม่วงบริเวณปากทาง รถออกตั้งแต่ 07.00 น. มีรถออกทุก 20 นาที

    ———————————————————

    สัมผัสเสน่ห์’สีสันแห่งดอยตุง’ฉลองปีใหม่กลางสายหมอกสวนดอกไม้

    ———————————————————

    พระตำหนักดอยตุง
    จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
    พระตำหนักดอยตุง
    ข้อมูลทั่วไป
    ประเภท พระตำหนัก
    ที่ตั้ง เชียงราย
    ประเทศ ประเทศไทย

    การก่อสร้าง
    ปีสร้าง วันที่ 26 ธันวาคม 2530
    ผู้สร้าง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
    สถาปัตยกรรม การผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบล้านนากับบ้านพื้นเมืองของสวิตเซอร์แลนด์

    พระตำหนักดอยตุง
    พระตำหนักดอยตุง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 7 บ้านมูเซอลาบา ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย บริเวณสันเขาของเทือกดอยนางนอน ระดับความสูงประมาณ 1,200 ม. เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาดอยตุง

    อ่านต่อ…
    http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%87

    ———————————————————

    ดอยตุง พระตำหนักดอยตุง สวนแม่ฟ้าหลวง
    ดอยตุงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเด่นของเชียงราย อยู่เหนือจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 45 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ลักษณะเป็นเทือกเขาสูงทอดตัวยาวอยู่ทางด้านซ้ายของเส้นทางที่มุ่งไปอำเภอแม่สาย แต่เดิมเป็นเทือกเขาหัวโล้นที่ถูกชาวเขาตัดทำลายเพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตร

    จนกระทั่งสมเด็จย่าได้เสด็จมายังดอยตุงและทรงมีพระราชดำรัสว่า ฉันจะปลูกป่าดอยตุง หลังจากนั้นในปี 2530 รัฐบาลจึงได้เริ่มจัดทำโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้นโดยปลูกป่าคืนความสมบูรณ์กลับคืนสู่ธรรมชาติ ได้ดึงชาวเขาเข้ามาทำงานในโครงการปลูกป่าดอยตุง

    แต่ก่อนนั้นเส้นทางขึ้นดอยตุงเป็นเส้นทางลอยฟ้า คือเมื่อนั่งรถบนถนนดอยตุงแล้วมองลงมาก็จะเห็นวิวโล่งๆ ไม่มีต้นไม้มาบดบังทัศนียภาพ แต่ในปัจจุบันนี้ดอยตุงกลับคืนสภาพเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่งเมื่อนั่งรถไปตามเส้นทางขึ้นดอยตุงจะเห็นแต่ต้นไม้แน่นขนัดนั่นล้วนเป็นป่าปลูกทั้งสิ้น

    หลังจากโครงการปลูกป่าแล้วเสร็จจึงได้มีการสร้างพระตำหนักดอยตุง และมีโครงการอีกหลายๆ โครงการตามมาเพื่อสร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น

    ———————————————————

    เกี่ยวกับดอยตุง
    ต้นกำเนิดโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์

    โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปี

    ทรงสัมผัสความทุกข์ยากของชาวบ้านบนดอยตุงซึ่งมีชีวิตอยู่ในวังวนของการปลูกและค้ายาเสพติด อีกทั้งวงจรการค้ามนุษย์ซึ่งกลายเป็นปัญหาสังคมอย่างไม่จบสิ้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเล็งเห็นถึงต้นเหตุแห่งปัญหาว่าเกิดจากความยากจน ความไม่รู้ และการขาดโอกาสในชีวิตของผู้คนในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร

    จึงทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่ต้องหยุดวงจรแห่งความทุกข์ยาก โดยพัฒนาคนอย่างมีบูรณาการ ควบคู่ไปกับด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสร้างสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ไปในเวลาเดียวกัน

    โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ชุมชนดอยตุงสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างมีคุณภาพต่อเนื่อง โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2531 บนพื้นที่ดำเนินงาน 93,615 ไร่ ในเขตอำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ครอบคลุม 29 หมู่บ้านของชนเผ่าอาข่า ลาหู่ จีนก๊กมินตั๋ง ไทใหญ่ ไทลื้อ และไทลัวะ ประมาณ 11,000 คน

    ———————————————————

    • พระตำหนักดอยตุง นับไว่าเป็นบ้านหลังแรกของสมเด็จพระศรนครินทราบรมราชชนนี ที่สร้างขึ้นด้วยพระราชาทรัพย์ส่วนพระองค์พระองค์และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯได้พระราชทานแนวพระราชดำริ โดยเน้นความเรียบง่ายและการใช้ประโยชน์ได้ดี พระตำหนักดอยตุง เริ่มดำเนินการสร้างเมื่อพระองค์ท่านเจริญพระชนมายุได้ 88 พรรษา โดยมีพิธีลงเสาเอกซึ่งทางเหนือเรียกว่า พีธีปกเสาเฮือน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2530

    พระตำหนักดอยตุง เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมล้านนา กับบ้านพื้นเมืองของสวิสเซอร์แลนด์ และบ้านไม้ซุง ตัวอาคารมีสองชั้นและชั้นลอย ที่ประทับชั้นบนแยกเป็นสี่ส่วน ทุกส่วนเชื่อมต่อกันเป็นอาคารหลังเดียวเสมอกับลานกว้างยอดเนินเขา

    ส่วนชั้นล่างจะเกาะอยู่ตามไหล่เนินเขา ลักษณะเด่นอยู่ที่กาแล และเชิงชายแกะสลักลายเมฆไหลรอบพระตำหนัก ภายในท้องพระโรงจะเห็นเพดานดาว ทำด้วยไม้สนแกะสลักเป็นกลุ่มดาวต่างๆ ล้อมรอบระบบสุริยะจักรวาล และที่เชิงบันได แกะเป็นตัวพยัญชนะไทยพร้อมภาพประกอบ ไม้ที่ใช้ตกแต่งภายในพระตำหนักส่วนใหญ่ เป็นไม้ลังใส่สินค้ามาจากต่างประเทศ ส่วนภายนอกพระตำหนักสดสวยสะพรั่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวนานาพันธุ์ที่สวยงามและสดชื่นตลอดปี

  3. แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
    พระตำหนักดอยตุง สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมล้านนากับบ้านไม้ซุงพื้นเมืองแบบสวิตเซอร์แลนด์ โดยพระราชทานแนวพระราชดำริให้เน้นความเรียบง่ายและใช้ประโยชน์ได้ดี ภายนอกพระตำหนักสดสวยสะพรั่งไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวนานาพรรณที่สวยงามและสดชื่นตลอดปี

    สวนแม่ฟ้าหลวง เป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 บนพื้นที่ประมาณ 12 ไร่ ใกล้พระตำหนักดอยตุง จัดแต่แปลงไม้ดอกหลากหลายพันธุ์นับหมื่นดอก หมุนเวียนให้สวยงามไม่ซ้ำกันใน 3 ฤดู กลางสวนมีประติมากรรมเด็กที่ได้รับพระราชทานชื่อว่า “ความต่อเนื่อง” ปัจจุบันสวนแม่ฟ้าหลวงได้ขยายพื้นที่เพิ่มอีก 13 ไร่ เป็นสวนหินสวนน้ำ และสวนไม้ประดับ รวมเนื้อที่สวนแม่ฟ้าหลวงทั้งหมดเป็น 25 ไร่

    สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง ดอยช้างมูบ ปี พ.ศ. 2535 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้สร้างสวนรุกชาติบนพื้นที่ 250 ไร่ บนดอยช้างมูบ โดยรวบรวมพรรณไม้พื้นเมืองและพรรณไม้ป่าหายากจากแหล่งต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะต้นกุหลาบพันปีนอกจากนั้น ยังมีต้นนางพญาเสือโคร่งที่ให้ดอกออกใบหลากสีตลอดปี มีทางเดินลัดเลาะไปตามไหล่เขาสำหรับชมต้นไม้ดอกไม้ มีลานปิกนิก ศาลานั่งพักผ่อน ระเบียงชมวิวซึ่งมองเห็นดินแดนพม่า แม่น้ำโขง ไปจนถึงฝั่งลาว และน้ำผุดที่มีชื่อว่า “น้ำพระทัย” อันหมายถึงน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จย่าที่หลั่งรินไม่เหือดแห้งสู่ราษฎรผู้ยากไร้ เหมือนน้ำจากยอดดอยไหลสู่ที่ราบอย่างไร้พรมแดน

    ศูนย์ฝึกอาชีพผาหมี สมเด็จย่าได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดขึ้นที่บริเวณดอยผาหมีแห่งนี้ เพื่อให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมทั้งฝึกฝนอาชีพควบคู่ไปด้วย เพื่อที่จะให้ผู้เข้ารับการบำบัดสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการที่พึ่งตนเองเมื่อหายเป็นปกติ

    พระธาตุดอยตุง ปฐมเจดีย์แห่งล้านนา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1454 ภายในบรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาสูงของเทือกเขานางนอน ห่างจากพระตำหนักประมาณ 7 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายเก่า หรือ 12 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายใหม่ ผ่านวัดน้อยดอยตุงจากนั้นเป็นสวนเทพารักษ์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของเทพารักษ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งปกปักรักษาองค์พระธาตุ

    หมู่บ้านชาวเขา ในบริเวณพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงมี 26 หมู่บ้าน ของชนกลุ่มน้อยหลายเผ่าพันธุ์ ได้แก่ ไทยใหญ่ จีนฮ่อ ชาวเขาเผ่าอาขาและเผ่ามูเซอ แต่ละหมู่บ้านมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแตกต่างกันไป ชาวบ้านเหล่านี้เข้ามาทำงานและฝึกอาชีพกับโครงการฯ ทำให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่พวกเขาก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของเผ่าไว้ได้อย่างดี มีพิธีและงานฉลองประจำเผ่าน่าตื่นตาตลอดทั้งปี

Leave a Reply