กฏแห่งกรรม : เรื่อง ปลาดุกย่างเป็นเหตุ
โดย ปัญญา ฤกษ์อุไร – หนังสือกฎแห่งกรรม เล่ม 1
เมื่อเรารดน้ำมนต์หลวงพ่อแพเสร็จแล้ว
คุณอำนวย ก็บอกข้าพเจ้าว่า “ออกจากนี่เราจะไปวัดอัมพวันกัน วัดอัมพวัน อยู่ไม่ไกลจากที่นี่ ออกไปทางถนนพหลโยธิน วัดตั้งอยู่ริมทางเลี้ยวเข้าไปประมาณ ๕๐๐ เมตรเท่านั้น ไหน ๆ ก็มาทำบุญ วัดหลวงพ่อแพแล้ว ก็ควรจะเลยไปวัดอัมพวันสักหน่อยก็จะดี” ”
“หลวงพ่อองค์นี้ดีทางไหน ” ข้าพเจ้าถามคุณอำนวยผู้แนะนำ
“ท่านเก่งทางนั่งทางในและทางวิปัสสนากรรมฐาน” คุณอำนวยชี้แจง “ท่านเก่งทางวิปัสสนาก็เป็นเรื่องของท่าน ไม่เกี่ยวอะไรกะเราผู้เป็นฆราวาส” ข้าพเจ้ายังไม่หายสงสัย
“เกี่ยวซิ ทำไมจะไม่เกี่ยว ยิ่งคนซวย ๆ อย่างผู้ว่ายิ่งเกี่ยวมากขึ้น
เพราะอย่างน้อยก็จะได้รู้ว่า เรื่องที่ซวยอยู่เวลานี้มันเป็นมาอย่างไร”
คุณอำนวยชักฉุนเพราะความขี้สงสัยของข้าพเจ้า
“รู้แล้วจะมีประโยชน์อะไร ไปพบท่านแล้วจะหายซวยกระนั้นหรือ”
คุณอำนวยเกาหัวยิกยัก คงจะโมโหที่ข้าพเจ้าสงสัยไม่หยุด “อย่างน้อยเราก็รู้ว่าเรื่องราวมันเป็นมาอย่างไร
จึงได้รับเคราะห์กรรมถึงปานนั้น พระที่นั่งทางในได้นั้นย่อมมองเห็นอดีตและอนาคตของสัตว์โลกทุกชนิด
เขาเรียกว่า มีทิพยจักษุ หรือญาณจักษุ อะไรทำนองนี้แหละ เข้าใจหรือยัง” เขาอธิบายจบพร้อมกับถอนหายใจเฮือกใหญ่
“ซาบซึ้งแล้วครับ” ข้าพเจ้าตอบยิ้ม ๆ
คุณอำนวยค้อนประหลับประเหลือก
คงนึกในใจว่าไม่ควรพาข้าพเจ้ามา ดูจะมีปัญหามากเหลือเกิน เราออกจากวัดพิกุลทองของหลวงพ่อแพ
มุ่งตรงไปออกทางเข้าสิงห์บุรีตรงตัดกับถนนพหลโยธิน แล้ววิ่งมาตามถนนพหลโยธินมุ่งเข้ากรุงเทพฯ
จากปากทางเข้าเมืองสิงห์บุรีมาได้ประมาณ ๘ ก.ม. ก็จะถึงวัดอัมพวัน วัดนี้ถ้ารถยนต์มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ จะอยู่ทางด้านขวามือ
ที่ปากทางมีป้ายเขียนไว้ว่า ทางเข้าวัดอัมพวัน หน้าวัดมีโรงเรียนหลังใหญ่อยู่หลังหนึ่งชื่อโรงเรียนวัดอัมพวัน เมื่อผ่านโรงเรียนไปแล้วก็จะถึงตัววัด
บริเวณวัดกว้างขวางและสะอาดสะอ้าน มีต้นไม่ใหญ่ ๆ หลายต้น
ร่มรื่นสมกับเป็นที่อยู่ของบรรพชิต
เมื่อพวกเราไปถึง ท่านอยู่พอดีมีอุบาสกอุบาสิกานั่งอยู่ก่อนแล้ว ๔-๕ คน พอคณะของพวกเราประมาณสิบกว่าคนไปถึง บรรดาท่านเหล่านั้นก็ลาหลวงพ่อไป คุณอำนวยนำพวกเราไปนั่งใกล้ ๆ
สำหรับข้าพเจ้านั้นให้ไปนั่งข้างหน้าใกล้ ๆ กับหลวงพ่อ
หลวงพ่อมีตำแหน่งเป็น พระครูภาวนาวิสุทธิ์
ชาวบ้านแถบนั้นเรียกท่านว่า พระครูจรัญ
เข้าใจว่าคงจะเป็นชื่อเดิมท่าน อายุประมาณ ๕๐ เศษ
ดูท่าทางเป็นคนเคร่งศีลและวินัย การพูดจาตรงไปตรงมาไม่เกรงใจใครทั้งนั้น
ทำถูกท่านก็ว่าถูก ทำผิด ท่านก็ว่าผิด
อาศัยเหตุผลเป็นหลักในการพูด
เมื่อคุณอำนวยไปหาท่านโอภาปราศรัยดี
แสดงว่าคุณอำนวยเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิ คนหนึ่ง
“มาวันนี้ก็ดีแล้ว อยู่ให้ถึงเย็น อาตมาจะให้เขาหุงอาหารไว้ให้กิน” ว่าแล้วท่านก็สั่งแม่ชีจัดการหุงข้าวทำกับข้าวเลี้ยง คณะคุณอำนวย โดยที่คุณอำนวยไม่ทันจะพูดว่ากะไร
“ผมมาวันนี้ นอกจากมากราบนมัสการท่านแล้ว
ก็ยังได้แนะนำเพื่อน มาคนหนึ่ง ที่เขาประสบเคราะห์กรรม อยากจะให้หลวงพ่อช่วยนั่งทางในดูสักทีว่า เรื่องราวมันไปยังไงมายังไงกัน ถึงได้มาประสบเคราะห์กรรมเช่นนี้” คุณอำนวยบอกหลวงพ่อ
“ไหนคนไหน” “คนนี้ครับ” ว่าแล้วคุณอำนวยก็ชี้มือมายังข้าพเจ้า
“อ้อคนนี้เรอะ ท่าทางดีนี่ไม่เลวเลย แต่หน้าตาดูจะหมองคล้ำไปสักหน่อย คนกำลังมีเคราะห์ก็เป็นแบบนี้แหละ
เดี๋ยวอาตมาจะนั่งหลับตาดูซิว่า มันเรื่องอะไรกัน”
พูดจบท่านก็นั่งหลับตาอยู่ครู่หนึ่ง พอลืมตาคุณอำนวยก็ถาม
“เป็นไงหลวงพ่อ พอไหวไหม”
“เฮ้อ! รายนี้อาการหนักมาก ความจริงดวงชะตาจะขาดอยู่แล้วตั้งแต่เดือนก่อนโน้น มีคนจะมาดักยิงที่บ้านพักแต่ยิงไม่ได้ เพราะที่นั่นมีพระภูมิเจ้าที่แรง ท่านคอยคุ้มกันทำให้คนที่ไปดักยิงมันมองไม่เห็นตัว มันเลยยิงไม่ได้ ความจริงมันไปเฝ้าอยู่นอกรั้วบ้านหลายวัน
ไม่มีโอกาสเห็นตัวโยมคนนี้ มันเลยเลิกล้มความตั้งใจ
มิฉะนั้นดวงชะตาขาดไปแล้ว ยังมีหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์เป็นพระเก่าแก่ ซึ่งแขวนอยู่ที่คอคอยคุ้มกันอยู่อีกองค์หนึ่ง
ทำให้คนคิดร้ายทำอันตรายได้ยาก
แต่ระยะนี้พ้นเคราะห์เหล่านั้นมาแล้ว คงไม่เป็นไร
หมั่นทำบุญ สุนทานมาก ๆ หน่อย
ปล่อยสัตว์มีชีวิตเช่น นก ปลา มาก ๆ ก็จะดี” หลวงพ่ออธิบาย
“แล้วเหตุที่มีเคราะห์ถึงขนาดนี้ มันเนื่องมาจากอะไรกันล่ะครับหลวงพ่อ”
ข้าพเจ้าถามท่านบ้าง เพราะปล่อยให้คุณอำนวยถามมานานแล้ว
“มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ แต่อาตมานั่งหลับตาดู
ทบทวนอยู่ถึงสองสามครั้งผลออกมาเหมือนกัน ซึ่งอาตมาก็ยังงง ๆ อยู่เหมือนกัน” “งงเรื่องอะไรล่ะครับหลวงพ่อ” “งงเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้น่ะซิโยม” “เรื่องอะไรล่ะครับที่เป็นไปไม่ได้ ในโลกนี้มีเรื่องที่จะเป็นไปได้เสมอ” ข้าพเจ้าว่า “คือตามเรื่องมีว่า โยมรู้ตัวว่ากำลังมีเคราะห์กรรม
ก็พยายามซื้อลูกปลาตัวเล็ก ๆ ไปปล่อยลงน้ำ เพื่อช่วยชีวิตของลูกปลาเหล่านั้น เรื่องนี้โยมทำมากตั้งแต่ปีที่แล้วใช่หรือไม่
บอกอาตมาตรง ๆ” หลวงพ่อถามข้าพเจ้าแล้วมองหน้า
“ใช่ครับ ผมรู้ว่าตัวเองกำลังมีเคราะห์
ดวงไม่ดีก็พยายามปล่อยนกปล่อยปลามาตั้งแต่ปีที่แล้ว
การปล่อยนกปล่อยปลาเป็นการช่วยชีวิตสัตว์ ไม่เห็นจะผิดบาปอะไรนี่ครับหลวงพ่อ” “ถ้าเพียงเอาไปปล่อยนอกจากไม่บาปแล้ว
ยังได้บุญอีกด้วยแต่เรื่องนี้มันไม่ยุติเท่านั้น มันยังมี เรื่องยืดเยื้อต่อมาอีกนะซี” พูดจบหลวงพ่อถอนหายใจใหญ่ “ยืดเยื้อยังไงครับ” “คือหลังจากเอาเขาไปปล่อยแล้วโยมก็ไปจับเขามากินอีกนะซี ตอนนี้แหละที่บาปหนัก จวนจะแก้ไม่ตกอยู่แล้วรู้ไหม เท่ากับเราอธิษฐานเมื่อเวลาจะปล่อยเขาลงน้ำว่าจง ไปอยู่เป็นสุขเป็นสุขเถิด เราปล่อยชีวิตเจ้าแล้ว เราช่วยชีวิตเจ้าให้ยั่งยืนต่อไปแล้ว
เจ้าจงไปอยู่เป็นสุขเป็นสุขเถิด
เจ้าเวรนายกรรมขอให้มารับส่วนกุศลในการปล่อยชีวิตในครั้งนี้ด้วย เสร็จแล้วหลังจากนั้นไม่นานโยมก็ไปจับเขามากินอีก เท่ากับกลับคำสัตย์ อธิษฐานที่ให้ไว้แก่เจ้าเวรนายกรรม ทำให้เจ้าเวรนายกรรมเขาโกรธมาก เขาจึงอาฆาตพยาบาท โยมจึงต้องรับเคราะห์กรรมอยู่ขณะนี้ยังไงล่ะ
นี่แหละที่อาตมาว่ามันไม่น่าจะเป็นไปได้
อาตมาดูคนมาแยะ ๆ หลายต่อหลายคนไม่เคยพบเห็นเรื่องอย่างนี้เลย”
หลวงพ่อพูดจบคว้าบุหรี่มาดูดวาบ ๆ (หลวงพ่อไม่สูบบุหรี่ แต่หลวงพ่อนัดยานัตถุ์) ข้าพเจ้าบอกหลวงพ่อเรื่องนี้ไม่จริง ข้าพเจ้าปล่อยนกปล่อยปลาเมื่อปีกลายจริง แต่เมื่อปล่อยลงน้ำลงคลองแล้วก็แล้วกันไม่เคยไปตามจับมากินอีก
เพราะจะรู้ได้อย่างไรว่า ตัวไหนคือตัวที่ข้าพเจ้าปล่อยไปจะได้จับมากินได้ถูก เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ทำเครื่องหมายไว้ และเวลาปล่อยก็ปล่อยครั้งละมาก ๆ
ลูกปลาดุก ปลาช่อน ปลาหมอ ครั้งละจำนวนร้อย ๆ ตัว
จะไปจำปลาแต่ละตัวได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น เรื่องที่หลวงพ่อว่า จึงไม่มีทางจะเป็นไปได้ อย่างแน่นอน
สงสัยหลวงพ่อดูผิดเสียแล้ว หลวงพ่อหัวเราะอย่างคนอารมณ์ดี “อาตมาไม่ได้ว่าโยมตั้งใจจะจับปลาที่ปล่อย สะเดาะเคราะห์มากิน
แต่อาตมาหมายความว่า โยมกินปลาที่โยมสะเดาะเคราะห์เข้าไป
จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ อาตมาไม่ทราบเหมือนกัน
แต่สรุปว่าโยมกินเขาเข้าไปแน่ ๆ โดยปราศจากข้อสงสัย
ลองไปนึกทบทวนดูให้ดีเถิด แล้ววันหลังค่อยมาคุยกันใหม่” “แล้วเรื่องที่ผมมีเคราะห์กรรมอยู่เวลานี้ล่ะครับจะเป็นอย่างไรบ้าง” ข้าพเจ้าอยากรู้เหตุการณ์ในอนาคต
“ตอนนี้พ้นระยะเคราะห์หนักแล้ว ที่เหลืออยู่เป็นส่วนน้อย
และค่อย ๆ หมดไปราว ๆ เดือนเมษายน-พฤษภาคม
ปีหน้าก็คงพ้นเคราะห์เด็ดขาด ไม่เป็นไร
ขอชื่อนามสกุล วันเดือนปีเกิดให้อาตมาไว้ แล้วอาตมาจะนั่งบริกรรมภาวนาให้เจ้าเวรนายกรรมเขาเห็นใจ
เลิกจองเวรจองกรรมเสีย”
ท่านหันไปคุยกับคุณอำนวยและคนอื่น ๆ ที่มาคณะเดียวกัน วันนั้นข้าพเจ้าไม่ได้อยู่กินข้าวเย็นที่วัดอัมพวัน
เพราะเกรงจะกลับกรุงเทพฯ ค่ำ เพราะกำลังมีเคราะห์อยู่ด้วย
ต้องระวังตัวเกรงเกิดอุบัติเหตุ ในระหว่างทางขณะขับรถกลับกรุงเทพฯ ข้าพเจ้า ได้ครุ่นคิดไปตลอดทางว่า
ข้าพเจ้าไปจับปลาที่ปล่อยสะเดาะเคราะห์ไปแล้วเอามากินได้อย่างไร ข้าพเจ้าไม่เคยประพฤติเช่นนั้นเลย ไม่น่าจะเป็นไปได้
การปล่อยปลาแต่ละครั้งก็ปล่อยจำนวนมาก ๆ
และปล่อยในลำคลองหนองบึงเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อปล่อยไปแล้วก็แล้วกัน ไม่เคยติดตามเอามากินอีกเลย หลวงพ่อคงจะเลอะเลือนดูทางในผิดไปแน่ ๆ แต่ก็ใจไม่ดี คิดว่าบางทีปลาตัวที่เราปล่อยต่อมา พวกจับปลามันจับได้เอาไปขายที่ตลาด เด็กบ้านเราไปจ่ายกับข้าว ซื้อมาแกงเข้าพอดี
ถ้าเป็นอย่างนี้ก็มีทางเป็นไปได้เหมือนกัน แต่โอกาสมีหนึ่งในร้อยหรือหนึ่งในพัน
ต่อมาอีกหลายวันข้าพเจ้าจำได้ว่า ทางอัยการเขาได้นัดส่งฟ้องข้าพเจ้าต่อศาลจังหวัดตราด
ซึ่งข้าพเจ้าในฐานะจำเลย ก็จะต้องเดินทางไปจังหวัดตราด เพื่อไปฟังคำฟ้องในศาล
หลังจากที่อัยการฟ้องเสร็จแล้วศาลก็นัดสืบพยาน โดยสืบพยานโจทก์ก่อนในชั้นต้น
ศาลได้นัดเดือนละ ๒ ครั้ง ก็เป็นอันตกลงกันทั้งอัยการ โจทก์ และทนายฝ่ายข้าพเจ้า
ทางฝ่ายโจทก์ก็ยื่นระบุพยานทั้ง หมด ๓๗ ปาก
ข้าพเจ้าคิดในใจว่า ถ้าสืบพยานครั้งละ ๑ ปาก ปีหนึ่งก็จะได้ประมาณ ๒๔ ปาก
กว่าจะเสร็จคดีก็คงราว ๆ ปีกว่า หรือ ๒ ปี ทางทนายของข้าพเจ้า
แนะนำให้เตรียมพยานเอาไว้บ้าง และให้ติดต่อกับเขาเสียแต่เนิ่น ๆ
ข้าพเจ้านึกถึงนายโกสุมคนขับรถของข้าพเจ้า ว่าเขาคงจะเป็นพยานให้ข้าพเจ้าได้ดี
เพราะเขาอยู่ใกล้ชิดกับข้าพเจ้าตลอดมา ไม่ว่าข้าพเจ้าจะไปไหนเขาก็มักจะไปด้วยเสมอ
ข้าพเจ้าจึงคิดว่า ควรอ้างเขาเป็นพยานสักคนหนึ่ง
เมื่อออกจากศาลแล้ว ข้าพเจ้าก็ไปหาเขาที่บ้านพัก บ้านพักของเขาอยู่ในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ข้าพเจ้าเคยพักอยู่นั่นเอง
เมื่อไปถึงไม่พบเขาอยู่ที่บ้าน ได้สอบถามภรรยาเขาว่า เขาไปไหน
ภรรยาเขาบอกว่า “โกสุมไปวิดปลาลอกสระอยู่หลังจวน” ข้าพเจ้าจึงเดินอ้อมไปทางหลังจวนจนถึงสระใหญ่
สระแห่งนี้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฏ สมัยโบราณไม่มีน้ำประปา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมัยก่อนได้ใช้น้ำในสระนี้อาบกิน
แต่เมื่อมีน้ำประปาแล้ว สระนี้ก็ทิ้งไว้เฉย ๆ มีต้นบัวอยู่เต็มสระ
พอถึงหน้าแล้งเดือนมีนา-เมษา น้ำก็จะแห้งจนถึงก้นสระ โกสุมจึงถือโอกาสลอกสระแล้วเอาปล่าที่อยู่ในสระจำนวนมากมากินเป็นอาหาร
ต้มบ้างแกงบ้าง ย่างบ้างตามแต่จะชอบ เมื่อข้าพเจ้าไปถึงปากสระ
โกสุมเห็นเข้าก็รีบตะกายขึ้นมาบนของสระชี้ให้ข้าพเจ้าดูปลาดุกปลาช่อน
ตัวขนาดเท่าแขนหลายตัวซึ่งนอนแอ้งแม้งอยู่ในถัง แต่ละตัวล้วนอ้วน ๆ ทั้งนั้น
ปลาดุกอุยแต่ละตัวเนื้อเหลืองท้องเหลืองอ๋อยน่ารับประทานเป็นอย่างมาก
ถ้าได้ย่างน้ำจิ้มปลาพริกมะนาวซอยหอมใส่นิดหน่อย
กินกับข้าวร้อน ๆ ก็คงจะอร่อยดีไม่น้อย คิดแล้วก็น้ำลายไหลด้วยความอยาก
“ปลาดุกอุยตัวโต ๆ ทั้งนั้น” ข้าพเจ้ากล่าวขึ้นลอย ๆ
“ปีกลายนี้ผมก็วิดบ่อหนหนึ่งแล้ว ตอนนั้นท่านยังเป็นผู้ว่าอย
่ ผมยังเอาปลาไปให้ท่านกิน ตั้งหลายตัว
ท่านคงจะจำได้ตอนนั้นมีทั้งปลาดุก ปลาช่อน และปลาหมอ ท่านยังบอกว่าปลาดุกย่างอร่อยดี”
โกสุมชี้แจง ข้าพเจ้าพยายามนึกทบทวนเหตุการณ์เมื่อปีที่แล้วมา
จำได้ว่าเมื่อข้าพเจ้าย้ายมาเมืองตราดใหม่ ๆ
ข้าพเจ้าได้ไปตลาดและได้ซื้อลูกปลาดุก ปลาหมอ ปลาช่อนเป็นจำนวนมาก มาปล่อยลงในสระแห่งนี้เพื่อสะเดาะเคราะห์ ตามคำทำนายของซินแสหมอดูจากจังหวัดระนอง
ที่ทายว่าข้าพเจ้ากำลังมีเคราะห์ ให้รีบสะเดาะเคราะห์เสีย
หลังจากนั้นต่อมาอีกหลายเดือน ประมาณ ๖-๗ เดือนเห็นจะได้ ผู้บัญชาการเรือนจำได้นำนักโทษหลายคน มาขออนุญาตข้าพเจ้าขุดลอกสระหลังจวน
โดยอ้างว่าสระตื้นเขินมากแล้ว ตอนนี้น้ำแห้งขอด ควรจะได้ขุดลอกเสีย
พอถึงหน้าฝนก็จะได้น้ำ เต็มสระ และเป็นน้ำที่ใสสะอาด
ด กว่าที่จะปล่อยเอาไว้ให้ตื้นเขินอย่างนั้น
ข้าพเจ้าผู้บัญชาการเรือนจำมีเหตุผลดี จึงได้อนุญาต ให้ขุดลอกสระแห่งนี้ได้
ซึ่งเขาได้นำนักโทษมาขุดลอกสระในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น บังเอิญวันนั้นข้าพเจ้าจำได้ว่า
มีราชการไปออกท้องที่ประชุมราษฎรที่กิ่งอำเภอบ่อไร่ กลับมาเย็นมากแล้ว
จึงได้ชวนพรรคพวกมานั่งตั้งวงดื่มสุรากันอยู่ที่บนนอกชานที่จวนนั่นเอง
การดื่มสุราของพวกราก็ไม่ได้ดื่มจนเมามายไม่ได้สติ แต่เป็นการดื่มเพื่อเรียกน้ำย่อยก่อนรับประทานอาหารเย็นคนละแก้ว สองแก้วก็เลิกกัน
ขณะที่นั่งดื่มเหล้ากันอยู่นั้น โกสุมก็เดินขึ้นมาบนจวนถือจานใบใหญ่มาหนึ่งใบ
ในจานมีปลาดุกย่างตัวโต ๆ เนื้อเหลืองอ๋อย ประมาณ ๓-๔ ตัว
ข้าพเจ้ายังจำได้ติดตา ว่าเย็นวันนั้นข้าพเจ้ากินข้าวกับปลาดุกย่าง
จิ้มน้ำปลาอย่างเอร็ดอร่อยเป็นกำลัง
เมื่อนึกได้ดังนั้น ก็เกิดเฉลียวใจแว่บขึ้นมาทันทีจึงได้ถามโกสุมว่า
“ปลาดุกที่ลื้อเอาไปให้อั๊วกินเมื่อปีกลาย
เป็นปลาดุกที่วิดจากสระนี้หรือ””ใช่แล้วครับ วันนั้นพวกผู้คุมเขาเอานักโทษมาขุดลอกสระ
ผมเลยถือโอกาสผสมโรงผลัดผ้าขาวม้าลงจับปลากับเขาด้วย
ผมได้ปลามาขังโอ่งไว้ตั้งหลายสิบตัว ผมเห็นปลาดุกตัวโต ๆ เนื้อเหลืองดี
เลยย่างเอาไปให้ท่านรับประทาน” เขากล่าวจบก็มองหน้าข้าพเจ้า คล้ายจะถามว่าข้าพเจ้ามาถามเขาทำไม
“ตายแล้ว ถ้าอย่างงั้นก็คงเป็นปลาดุกที่ผมเอามาปล่อย
ตอนที่ย้ายมาเป็นผู้ว่าใหม่ ๆ ละซี ปล่อยเขาแล้วเอาเขามากินอีก
ยิ่งบาปกรรมหนักยิ่งขึ้น แล้วนี่ผมจะทำยังไงดี” ข้าพเจ้าบอกโกสุมด้วยความกังวลใจ
“แฮ่ะ แฮ่ะ ผมก็ไม่รู้จะว่ายังไง เพราะเห็นว่ามันเนื้อเหลือง ๆ ตัวโต ๆ
ก็คิดว่าท่านคงชอบ ผมเองก็ไม่ทราบว่าท่านเอามาปล่อยไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ กินเข้าไปแล้วก็แล้วกันเถอะครับ เมื่อเราไม่เจตนาก็คงจะไม่บาปมากนัก”
เขากล่าวปลอบใจข้าพเจ้า “ไม่บาปกะผีอะไร หลวงพ่อท่านว่า แบบนี้บาปหนักมาก
ต้องรับเคราะห์กรรมไปอีกนาน” ข้าพเจ้าบอกเขา
“หลวงพ่ออะไรครับ” “หลวงพ่ออ้า…เอ อย่าไปรู้เลย ชั่งมันเถอะ”
พูดจบข้าพเจ้าก็ลาเขากลับ ส่วนเรื่องที่จะขอให้เขาเป็นพยานก็ลืมไปสนิท
เหมือนมีอะไรมาบังหัวใจเอาไว้ ที่คิดว่าจะพูดก็เลยไม่ได้พูด
ตอนขากลับจากจังหวัดตราดวิ่งรถเข้ากรุงเทพฯ ข้าพเจ้าครุ่นคิดมาตลอดทาง
นึกถึงคำพูดโต้ตอบของข้าพเจ้ากับหลวงพ่อที่วัดอัมพวัน
“เป็นไปไม่ได้หรอกครับหลวงพ่อ ที่ผมปล่อยชีวิตเขาไปแล้ว จะไปจับเขา มากินอีก
ผมจะไปรู้ได้อย่างไรว่าปลาตัวไหนเป็นปลาที่ผมปล่อยไป จะได้จับมากินได้ถูก
ยิ่งกว่านั้นผมยังปล่อยปลาครั้งละเป็นร้อย ๆ ตัว ยิ่งไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย”
“เป็นไปได้แน่นอน และก็เป็นแล้วด้วย
อาตมานั่งทางในเห็นชัดเจนและก็ยังสงสัยอยู่ ว่า ทำไมโยมถึงทำเช่นนั้น”
ข้าพเจ้าคิดสับสน จนบอกไม่ถูกว่าทำไมเรื่องราวในชีวิตของเราเอง
จึงได้ยุ่งเหยิงสับสนวุ่นวายถึงขนาดนี้
ที่มา : dhammajak